วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เรียนรู้จากชุมชนนักปฏิบัติ (CoP) R2R ศิริราชพยาบาล

เรียนรู้จากครูผู้มีประสบการณ์ จากบันทึกการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชนนักปฏิบัติ (CoP) R2R เมื่อวันที่ 1-2 กันยายน 2549 ณ โรงแรมหลุยส์ แทเวิร์น
เรียบเรียงโดย โครงการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 
ไม่รู้ระเบียบวิธีวิจัยทำอย่างไร
นิธิภา นิติรัตน์พิพัฒน์  จากแผนกสูตินารีเวชกรรม โรงพยาบาลยโสธร (นำเสนอ)
รพ.ยโสธร: มีการจัดอบรมโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ (อ.ชายขอบ) เอกสารที่ใช้ประกอบการสอนแทบจะไม่มี มี blog ของ อ. ภรณี และ อ. ชายขอบ เท่านั้น แต่ปรากฏว่า ผู้เข้าอบรมสามารถให้ definition ของงาน R2Rได้
สถาบันสุขภาพเด็กฯ: ครั้งแรกที่เริ่มทำ R2R จะเป็นการเชิญอาจารย์จากสถาบันอื่นมาให้ความรู้ สุดท้ายพบว่า โครงการ R2R ที่จัดตั้งขึ้นต้องทำเอง จึงต้องสร้างคนของเราโดย อ.วิจารณ์ และ อ.สมศักดิ์ เป็น trainer ให้ จนโครงการสามารถอยู่ได้ถึงทุกวันนี้
รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์: .สง่า และวิทยากรจากสถาบันอื่นมาร่วมงาน และยังมีพยาบาลที่จบปริญญาโทมาช่วย
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์: อ.ธิดา (จากภาควิชาวิสัญญีวิทยา) และ อ.ปารมี เป็นที่ปรึกษา และเป็นวิทยากร
รพ.ศิริราช: เป็นแม่แบบของ R2R ให้ทั่วประเทศ จัดอบรมและ workshop การสร้างงานวิจัยแบบ learning by doing                
อ.สง่า อินทจักร รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ (นำเสนอ)
การทำงานวิจัยจากงานประจำ ต้องการที่ปรึกษา  ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นบุคลากรในโรงพยาบาล แต่อาจเป็นใครก็ตามที่ยินดีให้คำแนะนำ อาจติดต่อกันทางโทรศัพท์ e-mail ตัวอย่างของรพ.ศิริราช ซึ่งมีการเรียนการสอน อาจไม่เป็นปัญหามากนัก แต่ส่วนของโรงพยาบาล เช่น รพ.เชียงราย  ใช้วิธีประสานอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งบางท่านก็เชิญเป็นการส่วนตัว การมาให้คำปรึกษาแต่ละครั้ง จะพยายามนัดให้พบกับหลายๆทีมเพื่อประหยัดเงินและเวลา 
อีกส่วนหนึ่งคือการพยายามผลักดันให้เกิดงานวิจัยในการนำเสนองานคุณภาพ  ผู้ประสานงานวิจัยในโรงพยาบาลควรเชื่อมโยงกับเวทีคุณภาพของ รพ.เพื่อผลักดันงาน CQI ต่อยอดให้เป็นงานวิจัย หาวิธีกระตุ้นให้มีการทำงานวิจัยต่อเนื่อง การกระตุ้นให้กลุ่มที่ทำงานพัฒนาคุณภาพทำงานวิจัยต่อเนื่องจะง่ายกว่าเพราะกลุ่มมีความภูมิใจในงาน
พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ (นำเสนอ)
ต้องเน้นให้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง โดยมีวิทยากรมาให้ความรู้เป็นระยะ สำหรับการจัดอบรมทักษะวิจัยนั้น ผู้ปฏิบัติงานที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อน อาจไม่ได้รับประโยชน์มากนัก  อาจต้องทำงานควบคู่ไปกับคนที่มีประสบการณ์การวิจัยมาบ้างจนกระทั่งมีพื้นฐานความรู้พอสมควร จึงไปเข้ารับการอบรม จึงจะได้ประโยชน์มากกว่า

ไม่มีเวลาทำงานวิจัยทำอย่างไรและทำอย่างไรให้มีการทำวิจัยอย่างต่อเนื่อง
นิธิภา นิติรัตน์พิพัฒน์  จากแผนกสูตินารีเวชกรรม โรงพยาบาลยโสธร (นำเสนอ)
รพ.ยโสธร: ภาระงานของคนที่อยู่ใน ward มีมาก หากไม่มีใจรักไม่เสียสละจะสานต่องานวิจัย ก็ยากมากที่จะสำเร็จ รางวัลต่างๆที่จะได้มาเป็นผลพลอยได้เท่านั้น ถ้ารู้สึกว่าทำแล้วผู้ป่วยดีขึ้น งานลดลง ผลดีก็จะสะท้อนกลับมาหาผู้ปฏิบัติงานเอง ขณะนี้กำลังหารูปแบบในการทำให้ต่อเนื่อง ปัจจุบันใช้วิธีนัดประชุมติดตามงานทุก 1 เดือน
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์: ภาควิชาจัดการเองได้ แต่หน่วยปฏิบัติการยังไม่work
รพ.ศิริราช: ตัวอย่างจากภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธฯ Cluster Facilitator จะช่วยสนับสนุน และภาควิชาสนับสนุนเวลาให้ครึ่งวันหรือ1วัน สำหรับทำงานวิจัย หรือจัดประชุมเกี่ยวกับงานวิจัย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรูปแบบตายตัว ผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดคือผู้บริหาร ที่จะมีส่วนในการให้การสนับสนุนด้านนโยบายลงสู่หน่วยงาน
รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์: ใช้วิธีจ้าง research nurse 3 คนและก็ทำงานนอกเวลา เป็นการสนับสนุนเงินพิเศษให้บุคลากรในหน่วยงาน ไม่ต้องไปรับงานที่อื่น
อ.สง่า อินทจักร รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ (นำเสนอ)
มีความหมายแตกต่างกันในแต่ละสถาบัน เช่น สถาบันทางด้านการเรียนการสอน งานวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของงานประจำของเขาอยู่แล้ว เพราะต้องหาความรู้ใหม่มาสอน แต่ส่วนของโรงพยาบาลนั้น วัฒนธรรมดั้งเดิมคือการให้บริการ เพราะฉะนั้นการขอให้ทำงานวิจัยเพิ่มเติม จึงทำให้เกิดความสั่นคลอนกันทั้งวงการว่า จะเอาเวลาที่ไหนมาทำวิจัย
หากเราทำความเข้าใจความหมายของR2Rให้ดี จะพบว่า การทำงานวิจัยจากงานประจำนั้น ช่วงเวลาที่จะใช้ทำวิจัยก็อยู่ในงานประจำนั้นอยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มเวลาในการเก็บข้อมูลมากขึ้น บันทึกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็น requirement ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพของงานบริการอยู่แล้ว เวลาที่ต้องมีเพิ่มขึ้นจริงๆ คือ เวลาที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลและเขียนรายงาน (ประมาณ 10-20% ของเวลาราชการที่จะต้องเพิ่มขึ้นเท่านั้น)
 ทางแก้ไขเรื่องเวลาที่ต้องใช้เก็บข้อมูลคือ แต่ละกลุ่มต้องมีการกระจายคนให้ช่วยกันเก็บข้อมูลใน ward  ต้องขอความร่วมมือจากแต่ละหน่วยงาน เนื่องจากมองว่าเป็นงานของ ward ไม่ใช่งานของส่วนใดส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ต้องทำความเข้าใจว่า ประโยชน์ของงานวิจัยชิ้นนั้นๆจะมาช่วยลดระยะเวลาการจัดการในอนาคตได้อย่างไร และอีกประเด็นที่สำคัญคือผู้บริหารต้องให้แนวทางสนับสนุนการทำงาน ทำให้เกิดงานวิจัยเป็นงานประจำในโรงพยาบาล อาจจะมีการให้รางวัลหรืออาจเป็นส่วนหนึ่งในการได้รับความดีความชอบ
สำหรับการจัดการอย่างไรให้ยั่งยืนนั้น บางสถาบันจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบขึ้นมาเป็นหน่วยงานหลัก เช่น รพ.ศิริราช แต่บางส่วนเห็นว่าเพียงแค่มีคณะทำงานที่คอยช่วยเหลือก็เพียงพอ เช่น โรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้จัดตั้งเป็นหน่วยงานอย่างเป็นกิจจะลักษณะแต่มีโครงสร้างนี้อยู่แล้วในกลุ่มของภารกิจพัฒนาระบบบริการสุขภาพ  เป็นหน่วยเล็กๆ ที่คอยดูแลทำให้เกิดงานวิจัยในโรงพยาบาล โดยมีบทบาทหลักอยู่ 2 ประการ
1. กระตุ้นให้เกิดงานวิจัยในโรงพยาบาล
2. ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน เช่นจัดหาที่ปรึกษาให้ หรือเป็นตัวกลางระหว่างนักวิจัยกับสำนักงานทรัพย์สินทางการเงินที่จะต้องเบิกจ่าย
การจัดการงานวิจัยที่สำคัญที่สุด คือ ผู้บริหารต้องสนับสนุนและเปิดโอกาส เช่น สนับสนุนให้เกิดนโยบายของโรงพยาบาล และพยายามหาช่องทางทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย
โดยสรุป การมีหน่วยงานกลางเพื่อช่วยดูแลงานวิจัยเป็นงานประจำจะช่วยให้ทำงานกันง่ายขึ้น แต่การจัดตั้งหน่วยงานในลักษณะใดนั้นก็คงขึ้นอยู่กับบริบทของสถาบันนั้น
                สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดความต่อเนื่องยั่งยืน คือ
1. สร้าง network ของ R2R โดยมี รพ.ศิริราช เป็นหัวเรือใหญ่ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติเป็นแรงสนับสนุนและทุกโรงพยาบาลก็ประสานกันเป็นเครือข่าย R2R ประเทศไทย จะทำให้ R2R แข็งแกร่งมากขึ้น เมื่อเกิดปัญหาก็สามารถปรึกษาแลกเปลี่ยนความรู้กันได้
2. กำหนดให้งานวิจัยอยู่ใน job description
3. มีผู้ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือ
4. ปรับเปลี่ยนแนวคิด ไม่ให้ผู้ปฏิบัติงานกลัวการทำงานวิจัย
พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ (นำเสนอ)
การปรับเปลี่ยนให้กระบวนการอย่างให้การทำวิจัยสั้นลง
ทำได้โดยการพยายามกระจายให้คนในทีมรับผิดชอบ ช่วยกันแบ่งเบาก็จะทำให้เวลาที่ใช้ในการทำงานสั้นลง มีผู้ประสานงาน พยายามจัดสรรเวลาของคนในทีม เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มกันได้ นอกจากนี้การที่มีหน่วยงานกลางช่วยอำนวยความสะดวกและเป็นที่ปรึกษา จะทำให้ผู้วิจัยใช้เวลาการดำเนินการทำงานน้อยลง อย่างไรก็ตามผู้ทำงานต้องมีใจอยากทำก่อน เวลาน้อยอย่างไรก็มักสามารถจัดสรรได้
นอกจากนี้บรรยากาศเชิงบวกที่สำคัญในการทำงานวิจัยมีดังนี้
1. ผู้บริหารทุกระดับไปร่วมประชุมกับทีมด้วยทุกครั้ง มีคำแนะนำชี้แนะช่องทางให้ ทำให้ทุกคนมีขวัญกำลังใจในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ช่วยจัดสรรเวลาให้คนมาทำงานร่วมกัน
2. ทุกคนในทีมมีเป้าหมายร่วมกันโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง
3.  ตัวอย่างโครงการติดดาวของ ศิริราช มีการประกวดผลงาน ทำให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจกัน ได้รับความชื่นชมยินดี
4. นอกจากกำลังใจที่ได้จากผู้บริหารแล้ว กำลังใจจากคนในกลุ่มที่คอยช่วยเหลือกันแบบกัลยาณมิตรก็เป็นบรรยากาศที่ส่งเสริมให้เกิดกำลังใจทำงาน
ผู้แสดงความคิดเห็น
1.คุณพิชชุดา (จากรพ.ศิริราช): ปัญหาของพยาบาล เรื่องภาษา และการทบทวนวรรณกรรม
ปัญหาอุปสรรคของกลุ่มพยาบาล คือ ภาษาอังกฤษ และ การทบทวนวรรณกรรม (search literature) ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก  และเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกว่าจะหาวิธีการแก้ไขอย่างไร ความรู้สึกของพยาบาลในการทำวิจัย จะมองว่างานวิจัยไม่ใช่อาหารจานหลัก เราไม่กินก็อยู่ได้ เพราะงานหลักของเราคืองานดูแลคนไข้ เราไม่สามารถปรุงอาหารที่มีคุณค่าได้ถ้าเราไม่สามารถเลือกสรรหรือเลือกซื้อวัสดุอุปกรณ์เองได้ แค่จะเป็นคนปรุงเองก็ยังไม่แน่ใจว่าจะปรุงได้ดีหรือไม่ถ้าต้องให้ไปคัดสรรเลือกหาอีก ยิ่งทำให้ไม่อยากทำ จึงอยากฝากความรู้สึกว่าข้อจำกัดเหล่านี้ของพยาบาลเป็นปัจจัยสำคัญ
อ.วิจารณ์  ให้ความเห็นว่า ไม่มีคำตอบตายตัวว่าต้องทำอย่างไร แต่จะต้องทำไปเรียนรู้ไปแลกเปลี่ยนกันไปแล้วความสามารถต่างๆะเกิดขึ้นเอง แต่ละคนจะเร็วช้าตื้นลึกกว้างแคบไม่เท่ากันเพราะมีองค์ประกอบความสามารถ ความชอบไม่เท่ากัน เป็นเรื่องที่เป็นไปโดยธรรมชาติ
พญ.ลัดดา ให้ความเห็นว่า ในฐานะที่ทำวิจัยเป็นผู้สนับสนุนมาตลอด อยากบอกว่าไม่มีสูตรสำเร็จ ต้องค้นหาตัวเองให้เจอก่อนว่างานของเรา วัฒนธรรมคนของเราเป็นอย่างไร เรามีศิริราชเป็นต้นแบบแต่ไม่ใช่คำตอบตายตัวที่สามารถลอกแบบได้ทั้งหมด
2.อ.สมศักดิ์: หน้าที่สำคัญของผู้สนับสนุนงานวิจัย R2R (Promoter)
Promoter มีหน้าที่หลักทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำ R2R/ KM เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการทำงาน เราทำงานโดยไม่มีการเรียนรู้ไม่ได้ ต้องมีคนสร้างสิ่งแวดล้อมที่ทำให้พวกเราเรียนรู้ได้ในระหว่างการทำงาน ซึ่งการสร้างสิ่งแวดล้อมต้องมีการจัดการทั้งเงื่อนไขเรื่องเวลา และภาระงาน แม้กระทั่งเครือข่าย R2R ที่จัดขึ้นนี้ก็เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
บทบาทของกลุ่ม Promoter ควรเป็นอย่างไร ในกรณีของรพ.ศิริราช แรกเริ่มที่จะตั้งโครงการ R2R อ.ปรีดาวิเคราะห์ว่า งานวิจัยในรพ.ศิริราชแบ่งเป็น 3-4 ประเภท และรพ.ศิริราชเองก็มีหน่วยสนับสนุนการวิจัยอยู่ก่อนแล้ว การตั้ง R2R ขึ้นก็เป็นวิธีมองอีกวิธีหนึ่ง เป็นหน่วยสนับสนุนเพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กร ไม่ได้สร้างผลงานวิจัยเท่านั้น
3.อ.วิจารณ์ : สิ่งกระตุ้นให้ทำ R2R
มุมมองของคนที่ทำ R2R มีหลายแบบ สิ่งที่กระตุ้นให้ทำ เช่น อยากให้งานนี้ดีขึ้น อยากให้คนไข้พอใจสบายขึ้นทรมานน้อยลง อยากเอาใจหัวหน้า อยากเรียนรู้ เรียกว่าเป็นจริตของฉันทะ คำถามหลายๆอย่างจะขึ้นอยู่กับระดับของฉันทะ หากความพึงพอใจอยู่ในระดับสูง หมายถึงอยากเรียนรู้เติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ คำตอบต่างๆก็จะเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น เขียนไม่เป็นแต่อยากบันทึก ถ้าเป็นคนที่อยากเรียนรู้ ก็จะหัดบันทึกไปเรื่อยๆ เมื่อฝึกฝนบ่อยๆก็จะคล่องขึ้น เท่ากับได้เรียนรู้ได้ก้าวข้ามไปอีกขั้น
แรงบันดาลใจหรือแรงจูงใจต้องมีการยกระดับขึ้นด้วย บรรยากาศสิ่งแวดล้อมรอบข้างเป็นตัวกระตุ้นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน ผู้บริหาร มองอีกมุมหนึ่ง การทำ R2R ไม่ใช่เพื่อ paper แต่เพื่อการเรียนรู้ การยกระดับตัวเองขึ้นไป
ได้เรียนรู้จาก CoP R2R ศิริราชแล้ว น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้เราขับเคลื่อนงาน R2R ของหน่วยงานเราได้บ้าง