วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การพัฒนาคุณภาพการพยาบาลกับงานวิจัย

ผู้เขียนได้อ่านบทความนี้ เป็นบทความ ที่เขียนโดย
ดร.วิไลพรรณ  สมบุญตนนท์*    Ph.D. (Nursing)
เป็นบทความที่ดี มีประโยชน์และน่าสนใจ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการปฏิบัติการพยาบาล ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการพัฒนางานประจำได้เป็นอย่างดี จึงอยากนำมาเผยแพร่ต่อค่ะ

การพัฒนาคุณภาพการพยาบาลกับการวิจัย

บทนำ


ในสภาวการณ์ตื่นตัวของการพัฒนาวิชาชีพพยาบาลและการพยาบาลให้มีคุณภาพ ภายใต้ยุคของการปฏิรูปสุขภาพที่มุ่งเน้นให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม ทั้งภาวะกาย จิต สังคม อารมณ์และจิตวิญญาณ  ตลอดจนการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การบริการพยาบาลในเงื่อนไขของการเพิ่มสมรรถนะและขีดความสามารถในการให้การบริการพยาบาลตามการปฏิรูประบบราชการ ที่ตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ ในการพัฒนาสังคมแก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนนั้น  การศึกษา วิจัย และสร้างองค์ความรู้ทางการพยาบาล เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของแผนยุทธศาสตร์การบริการพยาบาลที่พยาบาลตลอดจนหน่วยงานบริการพยาบาลจะต้องนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาบริการพยาบาลอย่างเหมาะสม  นอกจากนี้องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยยังได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในการเป็นความรู้ที่ได้ผ่านกระบวนการสืบสวนอย่างมีเหตุผลตามหลักของวิทยาศาสตร์ (Scientific Inquiry)  ดังนั้นองค์ความรู้ที่ได้จากผลการวิจัยจึงมีความน่า เชื่อถือและนำมาใช้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ ในการปฏิบัติการพยาบาล (Evidence Based Practice in Nursing) ให้มีคุณภาพได้ (1)    บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปลุกกระแสให้กับพยาบาลในการพัฒนาคุณภาพบริการพยาบาลผ่านการใช้งานวิจัย และทำความเข้าใจกับการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการปฏิบัติการพยาบาลในการเป็นหนึ่งในมรรควิธีที่นำไปสู่ความเป็นเลิศในการปฏิบัติ (Best Practice)  ต่อไป

แนวคิดและความสำคัญ
                 พยาบาลในฐานะนักปฏิบัติมีเส้นทางเดินในวิชาชีพ (Career pathways)  ที่จะต้องมุ่งเน้นการเชื่อมโยงองค์ความรู้ทางการพยาบาลลงสู่การปฏิบัติ ท่ามกลางกระแสความกดดันจากการปฏิรูประบบ   สุขภาพ  การปฏิรูประบบราชการ  การประเมิน      คุณภาพ และการประกันคุณภาพ  ตลอดจนความ   สับสนที่เกิดขึ้นในช่วงของการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่านของการปฏิรูปดังกล่าว  เป็นกระแสหลักที่ส่งผลกระทบต่อวิชาชีพพยาบาลและการปฏิบัติการพยาบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ระยะเวลาเปลี่ยนผ่านและการเปลี่ยนแปลงนี้  เป็นช่วงเวลาที่เอื้อโอกาสให้กับวิชาชีพพยาบาลในการพลิกฟื้นวิกฤตเป็นโอกาส ที่จะพัฒนาคุณภาพบริการพยาบาลที่เป็นเลิศ (Best Practice)  โดยการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence Based)  ที่ได้จากงานวิจัยในการปฏิบัติการพยาบาล  เปลี่ยนมุมมองและทัศนคติที่มีต่อการวิจัยว่าเป็นเรื่องยุ่งยากและซับซ้อน  ก็ยังคงเป็นแค่เศษเสี้ยวของความยุ่งยาก ซับซ้อน  ในสมการคำตอบของการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมที่อาจจะไม่ต้องการคำตอบ  แต่เป็นการทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ  และนำมาใช้เพื่อพัฒนาการบริการพยาบาลให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่ง ๆ ขึ้น
                ในการขับเคลื่อนการปฏิบัติการพยาบาลให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับนั้น  Walshc และ Ham (2)    กล่าวว่า มีหลักสำคัญที่ควรคำนึงถึง 4 ประการ  ได้แก่  ประการแรก  การเปลี่ยนพื้นฐานการปฏิบัติการพยาบาลจากการใช้ความรู้สึกและความคิดเห็น หรือการคาดเดาเอาเอง มาเป็นการปฏิบัติการพยาบาลบนพื้นฐานความรู้เชิงประจักษ์ที่ใช้กระบวนการเชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific Inquiry)  ประการที่สอง ได้แก่  การจัดการกับองค์ความรู้ (Managing Knowledge)  ที่เป็นระบบ  เหมาะสม และตอบสนองต่อความต้องการขององค์กร  ประการที่สาม ได้แก่  การมีระบบการตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพและการยอมรับการดูแลสุขภาพที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการปฏิบัติการพยาบาล (Systems for change)  ส่วนประการสุดท้าย ได้แก่  การสร้างแรงจูงใจ (Incentives)  ให้เกิดการปฏิบัติการพยาบาลที่มีคุณภาพ
                นอกจากนี้ ภายใต้กระแสของการพัฒนา    คุณภาพบริการพยาบาลที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศนั้น คำว่า Evidence Based Practice  หรือการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ ได้ถูกกล่าวถึงทั้งในวงการศึกษาทางการพยาบาลและในหมู่ผู้ปฏิบัติการพยาบาล  ซึ่งการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ทางการพยาบาลเพื่อการพัฒนา การบริการพยาบาลให้มีคุณภาพดีนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ได้รับความสนใจมากขึ้น  เหตุปัจจัยที่นำสู่การเกิดขึ้นของการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการพยาบาล  ได้แก่ ความกดดันของผู้ใช้และผู้ให้บริการทางสุขภาพ  จากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น  เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทันสมัย ในการตอบสนองต่อความต้องการในการใช้บริการทางสุขภาพของผู้ป่วยและความต้องการในการให้บริการทางสุขภาพของผู้ ดูแลสุขภาพ  ความตื่นตัวของผู้ใช้บริการทางสุขภาพต่อบริการรักษาพยาบาลที่ได้รับ  ตลอดจนข้อสงสัยในประสิทธิภาพของการรักษาพยาบาล  ความสามารถอย่างไร้พรมแดนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทาง     สุขภาพของประชาชน และผู้ให้บริการทางสุขภาพ  ฉันทามติทางการเมืองและนานาชาติในเรื่องของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่มีผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง  การพัฒนาประสิทธิภาพของการบริการทาง   สุขภาพ  เป็นต้น (3)
 
                ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนพื้นฐานการปฏิบัติการพยาบาล โดยใช้กระบวนการเชิงวิทยา-ศาสตร์ (Scientific Enquiry)  การจัดการกับองค์ความรู้ที่เป็นระบบ (Managing Knowledge)  ตามที่กล่าวถึงมาแล้ว  ตลอดจนการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence based practice)  ย่อมหลีกเลี่ยงการใช้ความรู้จากงานวิจัยไปไม่ได้  โดยเป้าหมายสุดท้ายของการวิจัยทางการพยาบาล เพื่อพัฒนาคุณภาพการพยาบาลในด้านต่าง ๆ นั้น คือ การนำผลการวิจัยไปใช้ ทั้งในการใช้ในรูปงานวิจัยเดี่ยว ๆ หรือกลุ่มของงานวิจัย
  Evidence-Based Practice : หนึ่งวิถี นำสู่การพัฒนาคุณภาพการพยาบาล
                   การใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการปฏิบัติการพยาบาล (Evidence-based Practice หรือ EBP) มีความหมายในเชิงกระบวนการว่า การค้นหา  การประเมินและการประยุกต์ใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในการให้การพยาบาล  การจัดการและการดูแล      สุขภาพ โดยมีเป้าหมายหลักในการช่วยให้ผู้ปฏิบัติการสามารถทำการตัดสินใจ (Decision making)  ในการเลือกให้การพยาบาลที่ดีที่สุดสำหรับผู้ใช้บริการ  เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ  ประสิทธิผล  ความคุ้มทุน  และกำจัดหรือป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติการพยาบาลนั้น ๆ  (3,4)
                  กระบวนการใช้ EBP ทางการพยาบาลนั้น ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน  ดังนี้
                ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดประเด็นปัญหาทางคลินิกและการประเมินความจำเป็นในการปรับปรุงวิธีปฏิบัติเดิม
                ขั้นตอนที่ 2  การสืบค้นและรวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
                ขั้นตอนที่ 3  การวิเคราะห์และสังเคราะห์หลักฐานที่ได้จากงานวิจัยเพื่อสร้างแนวทางการปฏิบัติการพยาบาล
                ขั้นตอนที่ 4  การสร้างและทดลองใช้ EBP เพื่อประเมินผล
                ขั้นตอนที่ 5  การนำ EBP ที่มีการปรับปรุงไปใช้ในการปฏิบัติในองค์กร
                การกำหนดประเด็นปัญหาทางคลินิก เป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการพัฒนา EBP  และเป็น   ขั้นตอนที่สำคัญในการที่จะได้ข้อมูลเริ่มต้นของการพัฒนา EBP  โดยเริ่มจากการใช้ประสบการณ์และสร้างความคิดรวบยอดจากตัวผู้รวบรวมข้อมูลในปัญหาหรือประเด็นที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงวิธีการพยาบาลที่ปฏิบัติอยู่เดิม  ให้มีความชัดเจน และครอบคลุมถึงสาเหตุของปัญหา และสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหา  ซึ่งอาจมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำในหน่วยงาน หรือปัญหาที่ได้จากการสังเกตการปฏิบัติทางคลินิกหรือในชุมชนที่ผ่านมา  ซึ่งอาจมีวิธีการปฏิบัติที่หลากหลายต่างกัน และได้ผลที่ต่างกันในหลายกรณี  เช่น  วิธีการดูแลผู้ป่วยเบาหวานใน   ชุมชน ที่มีแผลกดทับควรจะมีวิธีปฏิบัติแนวใด  จะใช้น้ำผึ้งบริสุทธิ์ หรือน้ำเกลือปราศจากเชื้อ 0.9% (NSS) หรือเบตาดีน เพื่อที่จะทำให้แผลตื้นและหายเร็วขึ้น  ความไม่ชัดเจนนี้เองที่พยาบาลจะต้องสืบค้นหา    หลักฐานเชิงประจักษ์ หรือคำตอบจากงานวิจัย  เพื่อหาวิธีการดูแลแผลที่เหมาะสม  นอกจากนั้นการแก้ปัญหาจากประสบการณ์ทางคลินิกที่ปฏิบัติอยู่ อาจเกิดความผิดพลาดทั้งด้านกฎหมายและจริยธรรม  จึงต้องมีการสืบค้นหาคำตอบและหลักฐานสนับสนุนจากงานวิจัยต่อไป
                ขั้นตอนที่เป็นขั้นตอนการสืบค้นและ   รวบรวมงานวิจัย เพื่อค้นหาข้อมูลในการตอบประเด็นปัญหาในขั้นตอนแรก  ผู้พัฒนา EBP  ควรได้ทำการรวบรวมประเด็นที่สำคัญในการสืบค้น ตลอดจนคำสำคัญที่จะใช้ในการสืบค้น (Key words)  เพื่อทำการสืบค้นงานวิจัยจากฐานข้อมูลทางการพยาบาลในระบบสารสนเทศ (CD-ROM)  เช่น  CINAHL (Cumulative Index of Nursing and Allied Health Literature), MEDLINE, Cochrance Database และฐานข้อมูลการวิจัยทางการพยาบาลในประเทศไทย ที่จัดทำโดยคณะพยาบาลศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล (รศ.ดร.ฟองคำ ติลกสกุลชัย และคณะนอกจากนี้ยังอาจสืบค้นได้จากฐานข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต และ Web site  ที่เกี่ยวข้อง  เช่น  Pubmed  (ฐานข้อมูลสำหรับสืบค้นข้อมูลบรรณานุกรมและบทคัดย่อ     วารสารภาษาอังกฤษทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์  มากกว่า 14 ล้านรายการ  ตั้งแต่ ค..1951 ถึงปัจจุบัน), Joannabriggs.com (สำหรับค้นหาข้อมูลงานวิจัยทางการพยาบาล  สามารถค้นข้อมูล  บท    คัดย่อ และบทความเต็ม (Full Text)  ได้โดยการเป็นสมาชิกผ่าน Web site)  หรืออาจสืบค้นงานวิจัยด้วยมือ (Manual Searching)  เช่น  งานวิจัยที่ไม่ได้ลง    ตีพิมพ์ในวารสาร หรือไม่ได้อยู่ในระบบฐานข้อมูล   สารสนเทศ  ซึ่งการสืบค้นด้วยมือนี้จะใช้เวลาในการสืบค้นมาก  จึงควรที่จะกำหนดกรอบในการสืบค้นที่ชัดเจนโดยกำหนดอายุของงานวิจัยที่ต้องการสืบค้นย้อนหลังไปกี่ปี  เป็นต้น  นอกจากนี้ ยังทำการสืบค้นงานวิจัยที่ไม่ได้ตีพิมพ์ หรืองานวิทยานิพนธ์ได้จากห้องสมุดของสถาบันการศึกษาพยาบาลต่าง ๆ  นอกจากนั้นแล้ว โดยนิยามของ EBP ที่เป็นการใช้หลักฐานที่ดีที่สุดเท่าที่มี ร่วมกับการตัดสินทางคลินิกนั้น จะเห็นได้ว่าการทบทวนหรือสืบค้นงานวิจัยอย่างเป็นระบบ (Systematic Reviews)  จัดเป็นวิธีการในการรวบรวมและทบทวนงานวิจัยที่สามารถใช้เป็นหลักฐานที่ดีที่สุด (best evidence)  และมีประสิทธิภาพมากที่สุด (5)  เนื่องจากการทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบที่มีคุณภาพดีนั้น เป็นผลของกระบวนการวิจัยที่เข้มแข็งและเชื่อถือได้  ดังนั้นในการสืบค้นงานวิจัยจะต้องมีการประเมินความน่าเชื่อถือของงานวิจัยนั้น ๆ  ทั้งในเรื่องของการออกแบบงานวิจัย  การวิเคราะห์และแปลผลข้อมูล  รวมทั้งความเหมาะสม สอดคล้องกับการนำมาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์การปฏิบัติจริง
                ขั้นตอนที่ 3 เป็นการวิเคราะห์และสังเคราะห์หลักฐานที่ได้จากงานวิจัย เพื่อนำมาสร้างแนวทางการปฏิบัติการพยาบาล  ขั้นตอนนี้ผู้พัฒนา EBP จะต้องอ่านงานวิจัยที่ผ่านการคัดกรอง เลือกสรร วิเคราะห์ และสร้างข้อสรุปขององค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัย    แต่ละเรื่อง  นำผลการวิจัยที่ได้มาสกัดและเรียบเรียงเพื่อที่จะนำไปสู่การใช้เป็นแนวปฏิบัติ  ซึ่งการอ่านงานวิจัยนั้นจะต้องมีการประเมินคุณภาพงานวิจัย หรือหลักฐานเชิงประจักษ์ ควบคู่กันไปด้วย  โดยแบ่งระดับของหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ได้เป็น 4 ระดับ  ได้แก่

                ระดับที่ 1 หรือระดับเป็นหลักฐานที่ได้จากงานวิจัยที่เป็นการวิเคราะห์เชิงอภิมาน (Meta-Analysis)  หรืองานวิจัยเดี่ยวของงานวิจัยประเภททดลองที่มีการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง (Randomized Controlled Trials) 
                ระดับที่ 2 หรือระดับ B  ได้แก่  งานวิจัยประเภทกึ่งทดลอง (Quasi-experimental design)  หรืองานวิจัยเชิงทดลองที่ไม่มีการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง (Non-Randomized Controlled Trials)
                ระดับที่ 3 หรือระดับ C  ได้แก่  งานวิจัยที่เป็นการศึกษาเชิงเปรียบเทียบ  หาความสัมพันธ์หรือเป็นการศึกษาเชิงพรรณนา (Descriptive Design)
                ระดับที่ 4 หรือระดับ D  ได้แก่  หลักฐานจากความเห็นร่วมกัน หรือฉันทามติ (Consensus)  ของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ  เนื่องจากยังไม่มีการทำวิจัยในเรื่องที่ต้องการ หรืองานวิจัยไม่มีความสอดคล้องกับบริบทของการปฏิบัติ (6)
                นอกจากจะประเมินคุณภาพงานวิจัยหรือหลักฐานเชิงประจักษ์ดังกล่าวแล้ว  ยังต้องมีเกณฑ์ในการคัดเลือกงานวิจัยที่ใช้งานวิจัยมากกว่าหนึ่งเรื่อง  เนื่องจากการพัฒนานวัตกรรมหรือการแก้ปัญหาทางคลินิกส่วนใหญ่ไม่สามารถทำได้โดยใช้งานวิจัยเพียงเรื่องเดียว  โดยอาจใช้งานวิจัยบูรณาการ หรือ Integrative Review  ในการวิเคราะห์และประเมินเพื่อนำมาสร้างนวัตกรรมทางการพยาบาลก็ได้  ส่วนการประเมินงานวิจัยที่จะนำมาใช้จะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับปัญหาทางคลินิก (Clinical Relevance)  การมีความหมายในเชิงของศาสตร์ (Scientific Merit) ในแง่ของความแม่นตรง (Accurate)  ความน่าเชื่อถือ (Believable)  และการมีความหมายทางคลินิก (Meaningful)  รวมทั้งจะต้องนำไปใช้ในการปฏิบัติได้ (Implementation Potential) ในแง่ของการเทียบเคียงความรู้สู่การปฏิบัติจริง (Transferability of the findings)  ความเป็นไปได้ในการปฏิบัติ (Feasibility of implementation)  และความคุ้มทุนในการนำไปใช้ (Cost-benefit Ratio)  (7)
                  ขั้นตอนที่ 4 ของการพัฒนา EBP  จะเป็นการสร้างแนวปฏิบัติการพยาบาลจากงานวิจัยหรือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สังเคราะห์ได้  โดยอาจสร้างเป็นคู่มือปฏิบัติการทางคลินิกที่มีการกำหนด   วัตถุประสงค์อย่างชัดเจน  มีการระบุประโยชน์หรือ    ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากการใช้แนวทางการปฏิบัติการพยาบาลที่สร้างขึ้น  รวมทั้งมีการกำหนดหรือระบุลักษณะกลุ่มผู้ป่วยหรือกลุ่มเป้าหมาย  การให้    ความหมายของคำสำคัญที่ใช้ใน EBP (Definition of Key terms)  เพื่อที่จะให้ผู้ใช้เข้าใจความหมายตรงกัน  รวมทั้งขอบเขตของการนำ EBP ไปใช้ด้วย  ส่วนในการเขียนขั้นตอนปฏิบัตินั้น จะต้องมีการลำดับขั้นตอนที่ชัดเจน  ใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายสำหรับบุคลากรทุกระดับเพื่อที่จะไม่ให้เกิดความสับสน หรือความยุ่งยากในการแปลความหมายของศัพท์หรือภาษาที่เฉพาะเจาะจงของการวิจัย  เมื่อได้แนวทางปฏิบัติออกมาแล้ว ก็จะต้องนำไปทดลองใช้ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจึงทำการประเมินผลการใช้ทั้งด้านผลลัพธ์ (Outcome Evaluation)  และกระบวนการ (Process Evaluation)  เพื่อที่จะได้นำไปสู่การปรับแก้ก่อนนำไปใช้ปฏิบัติจริงในหน่วยงาน
               ขั้นตอนสุดท้ายของการพัฒนา EBP จะเป็นการนำ EBP ที่มีการปรับปรุงแล้วไปใช้ในการปฏิบัติจริงในองค์กร  ซึ่งจะต้องมีการเตรียมความพร้อมของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง  การประสานความร่วมมือใน  องค์กร  ตลอดจนการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติในองค์กร  โดยมีมาตรฐานการปฏิบัติที่ไปในแนวทางเดียวกันตาม EBP ที่พัฒนาได้ในขั้นตอนนี้  พยาบาลต้องใช้บทบาทและศักยภาพในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง  การถ่ายทอดวิธีการปฏิบัติและสร้างความตระหนักให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องในองค์กรเห็นความสำคัญและร่วมมือ  จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายและแสดงศักยภาพของพยาบาลเป็นอย่างมาก
บทสรุป
                  จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น การใช้  หลักฐานเชิงประจักษ์ในการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อพัฒนาคุณภาพการบริการพยาบาลนั้นเป็นเพียงการแนะนำเบื้องต้นให้เห็นถึงกระบวนการและขั้นตอนการปฏิบัติ  แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายมรรควิธี   (หนทางปฏิบัติที่นำไปสู่การบริการพยาบาลที่มี    คุณภาพได้  นอกจากนี้ยังเห็นได้ว่า หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ดีที่สุด (Best Evidence) นั้น  เป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการตัดสินปัญหาหรือประเด็นความไม่    ชัดเจน แน่นอนในการปฏิบัติการพยาบาลให้เป็นไปในแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน  และมีความน่าเชื่อถือได้ทางหลักวิทยาศาสตร์  ในการที่จะตอบสนองยุทธศาสตร์ของชาติและความต้องการการดูแลทางด้านสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่มอายุนั้น  พยาบาลและบุคลากรทางการพยาบาลจะต้องมีทักษะความสามารถในการสืบค้นหลักฐานเชิงประจักษ์  การตีความและแปลความหมายงานวิจัยเพื่อนำมาใช้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในการพัฒนานวัตกรรมทางการพยาบาล  รวมทั้งเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองที่มีต่องานวิจัย และการทำวิจัยว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก ซับซ้อน มาเป็นสิ่งท้าทายให้เกิดการรู้แจ้งทางปัญญา  เพื่อการสร้างเสริมพลังในการปฏิบัติการพยาบาลที่ใช้ความรู้ของศาสตร์ทั้ง 4 ด้าน  ไม่ว่าจะเป็นทางวิทยาศาสตร์ (Science of Nursing)  สุนทรียศาสตร์ (Aesthetics)  หรือศิลปะทางการพยาบาล (Art of Nursing)        จริยศาสตร์ (Ethics)  และศาสตร์แห่งตน (Personal)  เพื่อการเรียนรู้สู่การปฏิบัติ  ตลอดจนมีการพัฒนา  ศักยภาพแห่งตนที่จะประเมินผลกระทบของการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์จากงานวิจัย เพื่อการนำสู่การปฏิบัติการพยาบาลที่เป็นเลิศ (Best Practice)  อันจะก่อให้เกิดการมีสุขภาวะแบบองค์รวมและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนไทยต่อไป

เอกสารอ้างอิง

 1.     Crookes PA,  Davies S.  Research into practice.  Edinburg : Baillere Tindall, 1998.
  2.       Walshc K,  Ham C.  Acting on the evidence, Progress in the NHS.  Birmingham : NHS  Confederation & University of
        Birmingham Health Services Management Center, 1997.
  3.       Hamer S.   Evidence – based practice.  In : Hamer S, Collinson G, eds. Achieving evidence – based Practice : A handbook for practitioners.  Edinburg : Bailliere Tindall, 1998 ; 3 – 12.
 4.     Craig JV,  Smyth RL.  The evidenced – based practice manual for nurses.  Churchill  Edinburg : Churchill. 
        Livingstone, 2002.
  5.     Dickson R.  Systematic reviews.  In : Hamer S, Collinson G, eds. Achieving evidence-based practice : A
        handbook for practitioners.  Edinburg : Bailliere Tindall, 1998 ; 41 – 60.
  6.     คณะอนุกรรมการ Evidence – Based Medicine & Clinical Practice Guidelines  ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ แห่ง
        ประเทศไทยคำแนะนำในการสร้าง  “แนวทางเวชปฏิบัติ”  (Clinical Practice Guidelines). 
สารราชวิทยาลัย
        อายุรแพทย์ 2544 ; 18(6) : 36 – 47.
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น